ทำอย่างไร? หากคนใกล้ชิดติดโควิด และคุณคือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง!
By A-Sei Hygiene For Everywhere
อย่างที่รู้กันว่าโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน เป็น Airborne แพร่ระบาดเร็ว และติดได้ง่าย ว่ากันว่าผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หรือใกล้ชิดคนที่ติดเชื้อโควิดโอไมครอน ใน 10 คน อย่างน้อยๆ มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อ 9-10 คน (อ้างอิงจากบทสัมภาษณ์ของนายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง ประธานกรรมการ MIU กระทรวงสาธารณสุข) และแม้ว่าอาการของโรคจะดูรุนแรงน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่สำหรับประชาชนในกลุ่มอ่อนแอ หรือกลุ่มเสี่ยง 7 โรค เชื้อนี้ก็ยังถือว่าอันตรายและสามารถทำให้ถึงแก่ชีวิตได้เช่นกัน
รู้แบบนี้แล้ว หากคุณคือหนึ่งในผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หรือมีคนใกล้ชิด อย่างคนในครอบครัว เพื่อนที่เพิ่งไปทานข้าวด้วยกัน แฟน เพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนบ้านคนสนิท ติดเชื้อโควิดโอไมครอน (และโควิดสายพันธุ์อื่นๆ) เราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อต่อให้ได้มากที่สุด ไปดูกัน!
ใครคือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง?
นิยามของผู้สัมผัสเสี่ยงสูง คือ คนที่อยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อในสถานที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน และไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย
- ผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันกับผู้ติดเชื้อโควิด-19
- ผู้ที่ทานอาหารร่วมกันกับผู้ติดเชื้อโควิด-19
- ผู้ที่พูดคุยกับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในระยะใกล้ นานเกิน 5 นาที ในระยะใกล้กว่า 1 เมตร
- ผู้ที่ได้สัมผัส หรือถูกผู้ติดเชื้อไอ/จามรด
- ผู้ที่อยู่ในสถานที่แออัดร่วมกับผู้ติดเชื้อในระยะใกล้กว่า 1 เมตร เกิน 15 นาที
ทำอย่างไร? หากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง
1. ตั้งสติ แจ้งให้คนใกล้ชิดทราบ
-
อันดับแรกต้องตั้งสติ อย่าโทษตัวเอง และไม่โทษผู้ติดเชื้อ หากคุณคือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ให้รีบโทรแจ้งคนใกล้ชิดของคุณทันที ไม่ว่าจะคนในครอบครัว แฟน เพื่อนร่วมงาน หรือคนที่เพิ่งเจอกัน โดยบุคคลเหล่านี้จะยังเป็นเพียงผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ แต่ถ้าหากคุณได้รับเชื้อมา เขาเหล่านั้นก็จะกลายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทันที ดังนั้น โทรแจ้งให้ทราบก่อน เพื่อให้พวกเขาได้เตรียมตัวก็จะดีกว่าค่ะ
2. กักตัวทันที
-
หลังจากทราบว่ามีคนใกล้ชิดติดเชื้อโควิด-19 และตัวเองเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ต้องกักตัวทันที 14 วัน นับตั้งแต่วันที่เจอผู้ติดเชื้อวันสุดท้าย แจ้งบริษัทขอทำงานที่บ้าน ยกเลิกนัด และธุระต่างๆ ออกไปก่อน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อต่อให้ได้มากที่สุด
3. เตรียมชุดตรวจโควิด ATK ให้พร้อม
-
การเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงอาจยังไม่จำเป็นต้องไปตรวจ PCR ที่โรงพยาบาล แนะนำให้เตรียมชุดตรวจ ATK เอาไว้ และตรวจหาเชื้อหลังจากเจอผู้ติดเชื้อแล้ว 3-5 วัน เช่น เจอผู้ติดเชื้อล่าสุดวันที่ 3 มกราคม ควรตรวจ ATK ในช่วงวันที่ 6-8 มกราคม เป็นต้นไป เพราะหากตรวจทันที ปริมาณเชื้ออาจจะยังน้อย จน ATK ไม่สามารถตรวจพบได้ และถึงจะตรวจแล้วได้ผลเป็นลบ ก็ต้องกักตัวต่อไป ไม่พบปะผู้คน จนกว่าจะครบ 14 วัน
4. สังเกตอาการตัวเองทุกวัน
-
ในระหว่างกักตัวให้ใช้ชีวิตประจำวันปกติ ทำงาน ดูทีวี อ่านหนังสือ ออกกำลังกาย แต่ต้องสังเกตอาการตัวเองทุกวัน แนะนำให้วัดอุณหภูมิร่างกาย หากเกิน 37.5 องศา หรือมีอาการหนาวสั่น เริ่มมีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น การรับรสเปลี่ยนไป ก็ควรปรึกษาแพทย์ทันที
5. จัดบ้าน/จัดคอนโดให้พร้อมกักตัว
-
ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ไม่ได้อยู่คนเดียว แนะนำให้จัดบ้าน/จัดที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับการกักตัว ดังนี้
-
หากมีห้องส่วนตัวให้อยู่แต่ในห้อง และถ้าเลือกห้องที่มีห้องน้ำในตัวได้ก็จะดีที่สุด
-
หากไม่มีห้องส่วนตัว ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ และจัดพื้นที่โดยเว้นระยะห่างจากคนอื่น โดยเฉพาะเด็ก และผู้สูงอายุให้ได้มากที่สุด หรืออย่างน้อย 1.5 – 2 เมตร หรืออาจใช้ฉากกั้นคั่นเอาไว้
-
แยกของกิน ของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ จาน ชาม ยาสีฟัน สบู่ ฯลฯ
-
หากใช้ห้องน้ำรวม ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงควรใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำ และควรทำความสะอาดห้องน้ำพร้อมฆ่าเชื้อทุกครั้งหลังใช้งานเสร็จแล้ว
-
เตรียมถังขยะส่วนตัวเอาไว้ เลือกแบบที่มีฝาปิดมิดชิด
-
ในกรณีที่ต้องนอนรวมกัน ให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา เปิดประตู/หน้าต่างระบายอากาศ ไม่ใช้แอร์ และผู้สัมผัสเสี่ยงสูงควรอยู่ใต้ลมเสมอ
6. ตรวจหาเชื้อซ้ำหลังกักตัวครบ 14 วัน
-
เมื่อกักตัวจนครบ 14 วันแล้ว ให้ตรวจหาเชื้อซ้ำด้วยชุดตรวจ ATK หากผลออกมาเป็นลบก็สบายใจได้ หรือถ้าใครไม่แน่ใจ อาจจะไปขอตรวจ PCR ที่โรงพยาบาล โดยแจ้งว่าเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงก็ได้เช่นกันค่ะ
"ยกระดับสุขอนามัยไปกับเรา A-Sei : Hygiene For Everywhere"
บทความที่เกี่ยวข้อง